ระบบไฟของมอเตอร์ไซค์ เป็นอีกระบบการทำงานของมอเตอร์ไซค์ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าระบบอื่นๆ และมักเป็นสิ่งที่ทุกคนมองข้ามไป วันนี้ Tzarbikeshop ขอนำท่านมารู้จักกับระบบไฟในมอเตอร์ไซค์ว่า มีการทำงานและควรดูแลรักษาอย่างไร เพื่อให้มอเตอร์ไซค์ของท่านได้อยู่ในสภาพการใช้งานที่ดี มีระบบไฟที่เสถียร สตาร์ตติดได้ง่าย เร่งความเร็วได้ดี ไม่มีอาการเดินเบา หรือสะดุด ช่วยยึดอายุการใช้งานของชิ้นส่วนต่างๆ ของมอเตอร์ไซค์ท่านได้
เป็นหัวใจของรถมอเตอร์ไซค์ทุกคัน ถ้าระบบไฟมีปัญหา ไฟรั่ว ไฟมาไม่เต็ม เนื่องจากหลายๆ สาเหตุของระบบไฟ จะเป็นผลทำให้รถสตาร์ทเครื่องยนต์ไม่ติดเช่นกัน
Table of Contents
ระบบไฟของมอเตอร์ไซค์ มีส่วนสำคัญอยู่ 3 ส่วน ดังนี้
1. แบตเตอรี่
แบตเตอรี่มีหน้าที่สำคัญในระบบไฟของจักรยานยนต์ ไม่ว่าจะทำหน้าเก็บกระแสไฟเพื่อนำไปใช้ในการสตาร์ตเครื่องยนต์ และใช้ในการทำงานต่างๆ เช่น ไฟสัญญาณ, ไฟหน้า, ไฟท้าย, ไฟเบรก, แตรสัญญาณ รวมถึงมีหน้าที่ส่งกระแสไฟเพื่อไปเลี้ยงระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เพื่อให้จักรยานยนต์สามารถทำงานได้อย่างปกติอีกด้วยวิธีการดูแลแบตเตอรี่แบบง่ายๆ สามารถทำได้ดังนี้
ตรวจดูขั้วสายแบตเตอรี่่ทั้งขั้วบวกและขั้วลบว่า หลุดหลวม หรือมีขี้ตะกรันหรือไม่ ถ้ามีให้ใช้น้ำอุ่นล้าง และเอาแปลงลวดขัดให้ออก รวมทั้งตรวจสอบสายระบายไอของแบตเตอรี่ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะอาจจะทำให้ชิ้นส่วนที่ถูกไอระเหยของแบตเตอรี่ผุกร่อนได้
ตรวจดูระดับน้ำแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับสูงสุด (Max) หรืออย่างน้อยต้องไม่อยู่ในตำแหน่งต่ำสุด (Min) ถ้าน้ำยามีระดับต่ำต้องรีบเติมน้ำกลั่นลงไปให้ได้ระดับ ไม่เช่นนั้นจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อม และเสียไว แล้วยังต้องคอยสังเกตด้วยว่าน้ำยาในแบตเตอรี่่แห้ง หรือไฟหมดเร็วกว่าปกติหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องรีบเช็คระบบไฟทันที
นอกเหนือจากการตรวจเช็คแบตเตอรี่่แล้ว ก่อนขับขี่ทุกครั้งก็ควรตรวจดูไฟสัญญาณต่างๆ ว่าทำงานเป็นปกติหรือไม่ ซึ่งถ้าไฟสัญญาณต่างๆ เริ่มอ่อน ก็เป็นอาการที่แสดงให้เห็นว่าแบตเตอรี่นั้นเริ่มที่จะเสื่อม และเริ่มที่จะจ่ายไฟได้น้อยลงแล้ว
วิธี เลือกแบตเตอรี่ ให้เหมาะกับรถคุณ
ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าแบตเตอรี่มีแบบไหนบ้าง? แบตเตอรี่ที่อยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ของเรานั้นก็มีอยู่หลายแบบด้วยกัน
แบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด (นิยมเรียกกันว่าแบตน้ำ) แบตเตอรี่แบบนี้เป็นแบบพื้นฐานที่สุด ปัจจุบันในมอเตอร์ไซค์สมัยใหม่ไม่ค่อยนิยมใช้กันแล้ว มีข้อดีคือราคาถูกที่สุด แต่ข้อเสียคือต้องคอยเซอร์วิสเพราะคายประจุเร็ว อายุการใช้งานสั้น มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก รวมไปถึงต้องวางในแนวตั้งเท่านั้น
แบตเตอรี่แบบ Maintenance Free (นิยมเรียกกันว่าแบตแห้ง) เป็นแบตเตอรี่ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน ตัวแบตเตอรี่ยังคงใช้หลักการเดียวกับแบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด แต่มีเทคโนโลยีใส่เพิ่มเข้าไป มีการซีลปิดด้านบนทั้งหมดเหลือไว้เพียงขั้วไฟ มีเส้นใยไฟเบอร์กลาสพิเศษคอยดูดซับน้ำกรดด้านในไม่ให้หกออกมา แม้จะวางคว่ำก็ตาม มีเซฟตี้วาล์วคอยคายแรงดันอัตโนมัติ ทำให้แบตเตอรี่ชนิดนี้ไม่ต้องคอยดูแลรักษาอะไรมากนัก ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น ข้อดีคือใช้งานง่าย สะดวก มีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเบากว่า ให้กำลังไฟที่ดีกว่า และอายุการใช้งานนานกว่าชนิดแรก นอกจากนี้ยังมีแบตเตอรี่ชนิดเจล ใช้เจลผสมอิเล็กโทรไลต์แทนของเหลว ซึ่งก็มีความปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็ยังจัดเป็นแบตเตอรี่ในหมวดนี้เช่นกัน
แบตเตอรี่แบบลิเธียม (นิยมเรียกกันว่าแบตลิเธียม) เป็นแบตเตอรี่ที่นิยมใช้ในลักษณะของแต่ง เพราะมันมีข้อดีที่น้ำหนักเบาและเล็กกว่าแบตเตอรี่แบบอื่นๆ มาก แต่ให้กำลังไฟมาก คายประจุน้อยที่สุด และมีอายุการใช้งานยาวนาน ด้านในไม่มีน้ำกรดหรือของเหลวอื่นๆ ที่เป็นอันตรายดังนั้นจึงวางในลักษณะใดก็ได้ อย่างไรก็ดีก็มีข้อเสียคือ ราคาแพง เนื่องจากตัวแบตมีความซับซ้อน ต้องมีวงจรควบคุมกระแสไฟไม่ให้เกิดการโอเวอร์ชาร์จหรือว่าคายประจุจนหมด นอกจากนี้ตัวยังคายประจุเร็วมากในกรณีที่ไม่ได้ใช้งานเป็นระยะเวลานาน แต่แก้ไขได้ด้วยการชาร์จไฟด้วยที่ชาร์จที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ
2. หัวเทียน
อาการสตาร์ตติดยาก ออกตัวไม่ดีไม่ค่อยมีกำลัง ล้วนมีสาเหตุมาจากการเสื่อมของหัวเทียนเป็นอันดับแรกทั้งสิ้น ดังนั้น การหมั่นสังเกตดูสภาพหัวเทียนจึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ อาการของรถสตาร์ติดยาก เร่งความเร็วได้ไม่ขึ้น เครื่องยนต์เดินไม่สะดวกขณะเดินเบา หรือเกิดอาการสะดุด มีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้หัวเทียนชนิดเย็นไป หรือไส้กรองอากาศอุดตัน โช้คค้าง หรือโช้คมากไป ตั้งไฟอ่อนมากไป แต่หากตรวจเช็คดูแล้วว่าที่หัวเทียนมีคราบเขม่าดำ ซึ่งเกิดจากการจุดระเบิดบกพร่อง วิธีแก้ไขก็คือ เปลี่ยนหัวเทียนชนิดร้อนขึ้น (ลดไปใช้หัวเทียนเบอร์น้อยลง) และปรับตั้งเครื่องยนต์ให้ถูกต้องวิธีตรวจเช็คหัวเทียนเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้
หัวเทียนสภาพไม่ปกติ จะมีคราบเขม่าดำแห้งเกาะที่ปลายฉนวนเขี้ยวไฟ และด้านในเปลือกเหล็ก หัวเทียนสภาพปกติ จะมีคราบสีเทา หรือสีน้ำตาล ที่ปลายฉนวนเขี้ยวไฟมีการสึกหรอน้อย
หลังจากที่เราได้ตรวจเช็คแล้ว หากเราตรวจเช็คที่หัวเทียนแล้วพบว่าเขี้ยวไฟละลาย หรือมีกระเบื้องละลายไปด้วย ถือได้ว่าอาการค่อนข้างร้ายแรง เนื่องจากเป็นอาการที่อุณหภูมิในห้องเผาไหม้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หัวเทียนชำรุด และยังเป็นอันตรายต่อลูกสูบ โดยเฉพาะเครื่องยนต์แบบ 2 จังหวะ โอกาสที่ลูกสูบติดมีค่อนข้างสูง สำหรับสาเหตุนั้นอาจเกิดจากการใช้หัวเทียนชนิดร้อนไป หรือใช้น้ำมันอ๊อกเทนต่ำไป รวมถึงการตั้งไฟแก่ไป หรือส่วนผสมบางไป มีวิธีแก้ไขคือ ให้ใช้หัวเทียนชนิดเย็นขึ้น ใช้น้ำมันอ๊อกเทนสูงขึ้น หรือตั้งไฟจุดระเบิดให้ถูกต้องรวมทั้งต้องตรวจเช็คการระบายความร้อน และปรับตั้งคาร์บูเรเตอร์ใหม่
6 สัญญาณคร่าวๆ ที่รถบอกคุณว่าถึงเวลาเปลี่ยนหัวเทียนแล้ว
1. เดินเบาไม่เรียบ หากเครื่องยนต์ทำเสียงที่ไม่นิ่ง หรือกระตุกจนทำให้เครื่องยนต์สั่นแปลกๆ ผิดจากเสียงเดินเบาปกติ ให้เช็คหัวเทียนดูความไม่ปกติ
2. รถสตาร์ทติดยาก หลายครั้งที่การสตาร์จไม่ติดจะมาจากปัญหาจากระบบน้ำมันเชื้อเพลิง หรือแบตเตอรี่ แต่อีกสาเหตุที่เป็นไปได้อีกอย่างคือหัวเทียนสึกเกินระยะใช้งานแล้ว หรือมีคราบคาร์บอนเกาะเยอะเกินไป ถ้าไม่มีประกายไฟจากหัวเทียนรถก็ไปไหนไม่ได้ แถมทำให้แบตเตอรี่เสียเพราะถูกดึงไฟตอนสตาร์ทไปเรื่อยๆด้วย ถ้ากรณีนี้ต้องเปลี่ยนทั้งหัวเทียนทั้งแบตเตอรี่เลย
3. เครื่องยนต์ติดไม่ครบสูบ หรือจุดระเบิดผิดจังหวะ เวลาหัวเทียนไม่จุดหรือจุดผิดเวลา เราจะรู้สึกเหมือนเครื่องหยุดไปเสี้ยววินาที แล้วกลับมาเคลื่อนไหวปกติอีกครั้ง หรือบางทีเครื่องยนต์จะรอบตกไปสักพัก แล้วกลับขึ้นมาทำงานได้ปกติใหม่ ทำให้เครื่องยนต์ทำงานไม่ปกติ และจะทำให้ไอเสียที่ออกมาเพิ่มมากขึ้น
4. Engine surging หรือภาวะเครื่องยนต์ดึงไอดีเข้าเยอะเกิน เมื่อเครื่องยนต์ดึงอากาศเข้าในห้องเผาไหม้เยอะเกินมาตรฐาน อาจทำให้เครื่องกระตุก และเครื่องชะลอจนหยุดไป แปลว่าเครื่องยนต์ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในสาเหตุที่เป็นไปได้คือหัวเทียนถึงเวลาเปลี่ยนแล้ว
5. รถกินน้ำมันมาก ในกรณีที่หัวเทียนที่ใช้อยู่สึกมาก อัตราการกินน้ำมันเชื้อเพลิงอาจสูงขึ้นถึง 30% จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ถ้าสังเกตว่าช่วงนี้เติมน้ำมันบ่อยขึ้นให้สันนิษฐานได้เลยว่าหัวเทียนถึงเวลาเปลี่ยนแล้ว
6. อัตราเร่งไม่มา หรือมาช้า ถ้าเครื่องเร่งไม่ขึ้น เวลาเราบิดหรือเหยียบคันเร่งแล้วรถไม่ตอบสนองเหมือนช่วงแรกๆ แค่เปลี่ยนหัวเทียน ประสิทธิภาพตรงนี้ก็จะดีขึ้นได้
หมายเหตุ อันนี้เฉพาะกรณีที่หัวเทียนที่ใส่ตรงสเปคแล้ว
แล้วเป็นอย่างไรกันบ้างครับ การดูแลรักษาระบบไฟของมอเตอร์ไซค์นั้นไม่ยาก และไม่ซับซ้อนเลยใช่ไหมครับ หากเราดูแลดีๆมอเตอร์ไซค์ของเราก็จะสามารถใช้งานไปได้อีกยาวนาน และไม่ต้องคอยกังวลว่ารถจะสตาร์ตติดหรือไม่ด้วยครับ
3. ระบบชาร์จไฟ
การตรวจสอบระบบการชาร์จไฟทำได้โดยการใช้โวลต์มิเตอร์ต่อคร่อมเข้ากับขั้วของแบตเตอรี่ แต่สำหรับการวัดค่าการชาร์จโดยการวัดความถ่วงจำเพาะของกรดด้วยไฮโดรมิเตอร์นั้นไม่ควรทำ ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีกรดพอที่จะดูดขึ้นมาใส่ภาชนะเพื่อทำการวัดค่าได้ ในการวัดค่าไฟชาร์จของแบตเตอรี่นั้น ให้ปลดขั้วแบตเตอรี่ออกก่อน ค่าไฟชาร์จถ้าเป็นแบตเตอรี่ขนาด 6 โวลต์ เมื่อทำการวัดด้วยโวลต์มิเตอร์แล้วควรจะมีค่ามากกว่า 6 โวลต์เล็กน้อยถ้าหากวัดได้ 5.6 โวลต์ หรือต่ำกว่า ควรจัดการชาร์จไฟใหม่ และเมื่อชาร์จไฟแล้วค่าที่วัดได้ควรจะอยู่ประมาณ 7.6 โวลต์ แต่ถ้ามากกว่านี้ก็แสดงว่าเซลล์ใดเซลล์หนึ่งเกิดการชำรุดขึ้นมา ส่วนแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ที่ใช้กันทั่วไปนั้น เมื่อวัดแล้วควรจะได้ค่าประมาณ 12.5 โวลต์ ถ้าวัดได้ 11 โวลต์ หรือต่ำกว่านี้ก็ควรทำการชาร์จใหม่ โดยที่ขณะชาร์จไฟ โวลต์เตจที่ขั้วควรจะได้ประมาณ 15 โวลต์ และในรถที่ใช้ระบบสตาร์ตไฟฟ้า โวลต์ของแบตเตอรี่ 12 โวลต์ ที่ชาร์จไฟเต็มแล้วควรจะอยู่ระหว่าง 8-10 โวลต์เมื่อสตาร์ทเครื่อง
ระบบไฟของมอเตอร์ไซค์
เรามาว่ากันในเรื่องของ “คอยล์” และ “ระบบไฟ” ที่มีอยู่ในรถมอเตอร์ไซค์ อันประกอบด้วย กล่องไฟ หรือกล่อง ECM ที่ต้องทำความรู้จัก “คอยล์” คือ อุปกรณ์ ที่รับกระแสไฟมาจากกล่อง CDI หรือปัจจุบันรถรุ่นใหม่ๆ จะเป็นกล่อง ECM หรือกล่องไฟ แล้วทำหน้าที่เปลี่ยนเปลี่ยนจากไฟแรงเคลื่อนต่ำ เป็นไฟแรงเคลื่อนสูง ทำให้เกิดประกายไฟ ตรงเขี้ยวหัวเทียน ใช้จุดระเบิดในห้องเผาไหม้ ในกรณีที่หัวเทียนไม่มีไฟออกมาจุดระเบิดควรพิจารณาจาก ปลั๊กหัวเทียนชำรุด เสียหาย ซึ่งเกิดจาก เป็นสนิมเกาะ, ขาดใน หรือสายคอยล์รั่ว แตก กรอบ จากความร้อน และอายุการใช้งาน หัวเทียน อาจจะเกิดจากหัวเทียนชำรุด เสื่อม หมดอายุการใช้งาน หรือบางทีอาจจะเจอหัวเทียนย้อมแมวเอาหัวเทียนเก่ามาโมฯใหม่ แล้ววางขาย ขั้วต่อสายไฟ จากคอยล์จุดระเบิด เกิดขี้เกลือ, ขาดใน, หรือขั้วต่อหลวม
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ การดูแลรักษาระบบไฟของมอเตอร์ไซค์นั้นไม่ยาก และไม่ซับซ้อนเลยใช่ไหมครับ หากเราดูแลดีๆมอเตอร์ไซค์ของเราก็จะสามารถใช้งานไปได้อีกยาวนาน และไม่ต้องคอยกังวลว่ารถจะสตาร์ตติดหรือไม่ด้วยครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพ https://www.checkraka.com/
ขอบคุณข้อมูลและภาพ https://www.taradfilter.com/
เรียบเรียงโดย : Tzarbikeshop.com
ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับบิ๊กไบค์ได้ที่ : Tzarbikeshop – อะไหล่บิ๊กไบค์