ประเภทของผ้าเบรค พูดถึงเรื่องผ้าเบรคสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ครับ
ส่วนตัวแล้วการเลือกตกแต่งรถมอไซค์ทุกคันของผมจะให้ความสำคัญที่ระบบช่วงล่างมากกว่าระบบเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเรื่องเบรคและยาง ก่อนที่จะไปเพิ่มกำลังเครื่องยนต์ คิดว่าข้อนี้ไม่ต้องอธิบายมากเพราะทุกคนก็น่าจะเข้าใจเหตุผล แต่ไม่ใช่ว่าระบบเบรคเดิมที่ติดรถมานั้นจะใช้ไม่ได้นะครับ มันใช้ได้ดีเลยทีเดียวถ้าเราเลือกใช้ผ้าเบรคที่ถูกต้องเหมาะสม ยกเว้นว่าถ้าคุณต้องการสมรรถนะที่ดีกว่าเพื่อการแข่งขันแบบจริงจัง
เรามาเข้าเรื่องผ้าเบรคกันดีกว่า สำหรับรถที่ใช้งานบนท้องถนนทั่วไปเราสามารถเลือกผ้าเบรคให้เหมาะสมกับรูปแบบการใช้งานและงบประมาณของเราได้ ในตลาดตอนนี้มีผ้าเบรคคุณภาพสูงที่จำแนกด้วยวัสดุที่นำมาใช้ทำผ้าเบรคอยู่หลากหลายชนิด แบ่งเป็นวัสดุหลักๆได้ 3 แบบ
Table of Contents
ประเภทของผ้าเบรค Sintered Brake Pads
แบบแรกคือผ้าเบรคแบบ ซินเทอร์ หรือ ซินเทรด เป็นผ้าเบรคที่เกือบจะเป็นแบบฉบับของผ้าเบรคติดรถซุปเปอร์ไบค์ในยุคสมัยนี้แล้ว วัสดุที่ใช้คือส่วนผสมของโลหะอ่อนหลายชนิดมาหลอมรวมกันด้วยความร้อนและแรงดันสูง เหตุผลหลักๆเลยที่ได้รับความนิยมสูงเพราะมันสามารถครอบคลุมการใช้งานได้ดีในทุกสภาวะการณ์ไม่ว่าจะแห้ง เปียก หนาว ร้อน และมีความเสถียรในทุกอุณหภูมิคือร้อนเร็วถึงอุณหภูมิทำงานเร็ว คลายความร้อนได้เร็ว ทนความร้อนได้สูงและเกิดอาการเฟดน้อยมาก แม้แต่ผ้าเบรคที่ใช้ในรถแข่งก็นิยมใช้กัน
แต่กระนั้นมันก็มีจุดบอดตรงที่ มันจะทำให้จานเบรคสึกหรอเร็ว(กินจาน) ดังนั้นจึงควรที่จะใช้ร่วมกับจานเบรคที่ใช้ผ้าเบรคชินเทอร์ติดมาจากโรงงานอยู่แล้ว เว้นเสียแต่ถ้าคุณต้องการประสิทธิภาพมากกว่าความประหยัด โดยอาจจะต้องเปลี่ยนจานเบรคบ่อยขึ้นหน่อยครับ
ประเภทของผ้าเบรค Organic Brake pads
ผ้าเบรคแบบออแกนิค ทำจากวัสดุไฟเบอร์โดยหล่อเข้ากันด้วยเรซิ่นชนิดพิเศษ และในปัจจุบันอาจจะผสมวัสดุคาร์บอนและเคฟล่าลงไปด้วยเพื่อเพิ่มอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น จุดเด่นของผ้าเบรคชนิดนี้คือมีราคาถูกกว่า ไม่กินจานเบรคเพราะใช้วัสดุที่อ่อนนิ่มกว่า ให้สัมผัสที่นุ่มนวล ดีในเรื่องของการคอนโทรลเบรคที่ความเร็วต่ำเพราะให้แรงเสียดทานเริ่มแรกต่ำกว่าในขณะบีบเบรคเบาๆ จุดเด่นอีกเรื่องคือไม่กินจานเบรค และยังคงความเงางามของจานเบรคไว้ได้ดีเพราะไม่เกิดความร้อนสูง ฝุ่นจากผ้าเบรคน้อย
จุดด้อยของมันคือ ผ้าเบรคจะสึกเร็วกว่าแบบอื่นๆ ทนความร้อนไม่ได้สูง ออกอาการเฟดเร็วกว่า และยังไม่ชอบสภาวะที่เปียกแฉะ มันจะลดประสิทธิภาพลง จึงเหมาะสำหรับคนที่ขับขี่ใช้งานทั่วๆไป
ประเภทของผ้าเบรค Ceramic Brake Pads
ผ้าเบรคแบบเซรามิค ทำจากวัสดุผสมระหว่างเซรามิกและโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก โดยรวมจะมีคุณสมบัติที่อยู่ระหว่างเบรคทั้ง2แบบที่กล่าวมาในข้างต้น โดยโลหะที่ผสมอยู่นั้นจะเป็นตัวที่ช่วยเพิ่มกำลังเบรคและกำลังในการเริ่มเบรคที่เร็วขึ้น ในขณะที่เซรามิคจะช่วยในเรื่องของความร้อน ช่วยนำพาความร้อนระบายออกได้ดีกว่าและยังทนความร้อนได้ดีกว่าวัสดุออแกนิค ลดอาการเฟดของผ้าเบรคได้ดีกว่า การทำงานก็ยังเงียบกว่าทั้งสองแบบ ผ้าเบรคก็มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ไม่กินจานเบรคด้วย แต่มันก็ถูกจัดให้ใช้กับรถแบบทัวริ่งหรือรถที่สมรรถนะที่ไม่สูงมากนักเท่านั้น
วิธีตรวจเช๊คเบื้องต้น
เรื่องความปลอดภัยในการขับขี่มอเตอร์ไซค์แล้ว นอกเหนือจากยางล้อที่มีคุณภาพ และยังอยู่ในอายุการใช้งาน อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก และเป็นเรื่องลำดับต้นๆ ที่ควรคำนึงถึง นั่นคงหนีไม่พ้นเรื่องระบบเบรกครับ ซึ่งชิ้นส่วนที่สำคัญมากลำดับต้น ๆ ของระบบเบรกที่ดีนั่นก็คือผ้าเบรก ซึ่งที่ผ่านๆ มาอาจยังมีชาวไบค์เกอร์หลายท่านลืมตรวจสอบความสมบูรณ์พร้อมใช้งานของผ้าเบรก โดยบางท่านอาจคิดว่าใช้งานน้อยมากไม่น่าจะสึกหรอเท่าไหร่ หรือบางท่านอาจรอเปลี่ยนช่วงที่นำรถเข้าศูนย์บริการเช็คระยะแล้วให้ช่างของศูนย์บริการตรวจเช็คความบางของผ้าเบรกไปทีเดียวเลย ซึ่งบางที มันอาจ “เบาเป็นหนัก”
วิธีที่ 1 สังเกตด้วยตาเปล่า
การมองความหนาผ้าเบรกด้วยสายตานั้น ในรถบางรุ่น คาลิปเปอร์อาจไม่อยู่ในมุมที่เราจะมองเห็นความหนาผ้าเบรก หรือถ้ามองเห็นก็เล็กมาก บางทีอาจต้องใช้ไฟฉายส่องช่วยด้วยนะครับ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นมากที่เพื่อนๆ ควรจะก้มดูและเช็คความหนากันบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเตรียมตัวออกทริปใหญ่ค้างคืนตามต่างจังหวัด ถือเป็นการเช็คความพร้อมของรถให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานทางไกลสูงสุดครับ
วิธีที่ 2 เช็คจากเกจ์วัดกระปุกน้ำมันเบรก
สำหรับการเช็คว่าผ้าเบรกหมดหรือไม่ จากกระปุกน้ำมันเบรกนั้น เป็นอีกวิธีที่ทำได้ง่าย และรวดเร็วครับ นั่นเพราะว่าหลักการของคาลิปเปอร์ในการดันผ้าเบรกให้บีบกับจานนั้น จะต้องอาศัยน้ำมันเบรกเป็นตัวช่วยดันลูกสูบเวลาที่เราบีบก้านเบรก ซึ่งหากผ้าเบรกบางลง หรือเหลือน้อย น้ำมันเบรกจะต้องเข้าไปแทนที่ในส่วนของเนื้อผ้าเบรกที่หายไป เพื่อให้การเบรคยังมีประสิทธิภาพเท่าเดิม นั่นเป็นเหตุผลให้น้ำมันเบรกเมื่อเราส่องจากกระปุกด้านบน จะพบว่าน้ำมันเบรกมีปริมาณลดลงเมื่อผ้าเบรกใกล้หมดนะครับ
วิธีที่ 3 ลองฟังเสียงขณะเบรก
ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์แต่ละท่านจะสามารถตรวจสอบผ้าเบรกด้วยวิธีการข้างต้นได้ แต่กลับพบว่าหลายๆ ครั้งลูกค้าที่เข้ามาเปลี่ยนผ้าเบรก เกิดจากได้ยินเสียงขณะเบรกรถ อันเนื่องมาจากเนื้อผ้าเบรกหมดเกลี้ยงแล้วทำให้แผ่นเหล็กที่เป็นตัวยึดเนื้อผ้าเบรกมาเสียดสีกับจานเบรก ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าอันตรายมากหากผู้ใช้รถยังคงฝืนขี่ต่อไป เพราะแผ่นเหล็กที่ไว้ยึดผ้าเบรกนั้นไม่ได้ออกแบบสำหรับมาเสียดสีกับจานเบรกครับ ทำให้ทุกครั้งที่เราเบรก เหล็กกับเหล็กจะเสียดสีกัน ทำให้จานเบรกสึกหรอ (หรือที่ใครๆ เรียกกันว่ากินจาน) จานอาจจะคดงอทำให้ไม่สามารถใช้การได้อีก และ เกิดความร้อนสูงสะสมซึ่งอาจส่งผลให้น้ำมันเบรกเดือดเกิดอากาศในระบบ ทำให้เบรกจมหายไปแต่รถไม่ชะลอ หรือที่เรียกกันว่าเบรกแตก นะครับ
วิธีที่ 4 จับสัมผัสประสิทธิภาพของการเบรกครับ
การจับสัมผัสประสิทธิภาพการเบรกของรถของเราเอง ว่ามันลดลงหรือไม่ แค่ไหน มีระยะเบรกเพิ่มขึ้น ต้องบีบก้านเบรกลึกขึ้นหรือไม่ และมีอาการสั่น หรือเสียงกระพรือ ยามที่เราบีบเบรกหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจจะยากสักหน่อย เนื่องจาก รถที่เราใช้จนติดเป็นความเคยชินนั้น ระบบเบรกและระยะเบรกที่ลดประสิทธิภาพลงทุกครั้งที่เราใช้งาน แต่ตัวผู้ขับขี่ก็จะชินกับระยะและสัมผัสการเบรกที่ค่อยๆ ด้อยลงทีละน้อยๆ ด้วยเช่นกัน แถมสมองยังปรับสภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรกด้วยการเติมแรงบีบให้มากขึ้น สายตาจะมองระยะวัตถุด้านหน้า และคาดคะเนระยะการเบรกที่ปลอดภัยให้มากขึ้น จนลืมนึกถึงสัมผัสการเบรกที่มีประสิทธิภาพในตอนแรกไป
เลยสรุปแบบอ่านง่ายๆว่า ถ้าต้องการกำลังเบรคที่ดีที่สุดในทุกอุณหภูมิ ให้เลือกใช้แบบซินเทอร์ แต่ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูง สึกเร็ว และกินจาน(ในกรณีที่ไม่ใช่จานเบรคเฉพาะ)
แบบออแกนิค มีราคาถูก ทนทานยาวนาน ไม่กินจานเบรคเหมือนแบบซินเทอร์ แต่กำลังเบรคและการทนความร้อนต่ำ เอาไว้ใส่รถจ่ายกับข้าวดีกว่า ที่อยู่ตรงกลางๆก็คือแบบเซรามิค เน้นราคาและอายุการใช้งาน แต่ใช้งานได้ดีการการขับขี่ที่ออกแนวสปอร์ตนิดๆ
ก็พอเป็นแนวทางในการเลือกผ้าเบรคให้ถูกกับการใช้งานและงบประมาณครับ แต่จริงๆอยากแนะนำว่าอย่าไปงกกับเรื่องความปลอดภัยครับ รถผมใช้ซินเทอร์ตั้งแต่รถใช้งานยันรถซิ่งเลยครับ ผมเห็นนักแต่งรถหลายๆคนหาคาลิปเปอร์ดีๆแพงๆไปใส่รถ แต่เวลาเปลี่ยนผ้าเบรคดันซื้อผ้าเบรคถูกๆไปใส่ ก็ยังงงๆอยู่ แบบนี้ใช้คาลิปเปอร์เดิมติดรถแล้วหาผ้าเบรคดีๆใส่ยังจะดีกว่าเยอะครับ ประหยัดตังด้วย อย่าเอาแต่แฟชั่นครับ ต้องรู้จริงกับการใช้งานด้วยครับ ไม่งั้นเสียของหมดครับ หวังว่าข้อความของผมคงเป็นประโยนช์นะครับ
ขอบคุณข้อมูลและภาพ http://bigbikelover.com/
ขอบคุณข้อมูลและภาพ https://realmotosports.com/4-trick-check-break-linings/
เรียบเรียงโดย : Tzarbikeshop.com
ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับบิ๊กไบค์ได้ที่ : Tzarbikeshop – อะไหล่บิ๊กไบค์